
ข้อดีของการทำ “ฝาย” กั้นน้ำฝายชะลอน้ำ
ฝายกั้นน้ำ เป็นสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกั้นทางน้ำ ตามปกติมักจะกั้น ห้วย, ลำธารขนาดเล็กในบริเวณต้นน้ำ หรือ พื้นที่ซึ่งมีความลาดชันสูง ถ้าเป็นช่องที่น้ำไหลแรงก็จะช่วยในการชะลอการไหลให้ช้าลงด้วย เพื่อเป็นการกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมบริเวณตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและแหล่งน้ำให้สมบูรณ์
ฝายชะลอน้ำแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่น หรือฝายแม้ว สร้างจากวัสดุจากธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ , ไม้ล้ม รวมทั้งการนำก้อนหินมาวางเรียงกัน, ฝายชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหิน หรือ ฝายกึ่งถาวร และฝายชะน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือ ฝายแบบถาวร โดยการก่อสร้างฝายชะลอน้ำต้องมีการศึกษาโดยละเอียด ในเรื่องของความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหา มิเช่นนั้นอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ เช่น สร้างแล้วทำให้น้ำนิ่ง ไม่เกิดการไหลเวียน ก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จนอาจไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้
ข้อดีของการทำ “ฝาย” กั้นน้ำ
- ช่วยชะลอน้ำ เป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่าตลอดทั้งปี แม้กระทั่งในฤดูร้อน ที่ปกติน้ำจะต้องแล้ง ปัจจุบันมีการดูแลป่าชุมชนรวมกว่า 210,000 ไร่
- มีน้ำใช้อย่างพอเพียง ในฤดูร้อนหรือหน้าแล้ง ทำให้ชุมชนรอบป่าไม่ขาดแคลน
- ลดอัตราการเกิดน้ำท่วม เหตุการณ์จริงที่ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ลำปาง พบว่าน้ำไม่ท่วมในพื้นที่สร้างฝาย เช่น ชุมชนบ้านสาสบหกอำเภอแจ้ห่ม , ชุมชนบ้านสามขา , บ้านเอียก ในอำเภอแม่ทะ เป็นต้น
- ช่วยยืดระยะเวลาให้น้ำท่วมช้าลง ถ้าเกิดเหตุภัยธรรมชาติอย่างรุนแรงจะทำให้ชาวบ้านในชุมชน สามารถอพยพได้ทันเวลา
- ช่วยลดจำนวนการเกิดไฟป่า จากเหตุการณ์จริงหลังจากสร้างฝายในพื้นที่ป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย จังหวัดลำปาง พบว่ามีการเกิดไฟป่าลดลงจากปีละ 200-300 ครั้ง เหลือเพียงปีละไม่เกิน 4-6 เท่านั้น
- เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า เช่น พื้นที่อนุรักษ์ป่าแม่ทรายคำ พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 22 ชนิด เช่น เม่นใหญ่ , สุนัขจิ้งจอก , แมวดาว ที่เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ , สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด เป็นต้น
- ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีอาหารเพียงพอตลอดปี
- สร้างอาชีพ ทั้งการนำผลผลิตจากป่า เช่น เห็ด , ผักหวาน , สมุนไพร เป็นต้น นำไปขาย ถ้าบางแห่งมีธรรมชาติอันสวยงาม ก็เปิดเป็น Homestay สร้างรายได้แก่ให้ชุมชน 2 ทาง
- ต่อยอดกิจกรรมใหม่ๆ เช่น ป้องกันไฟป่าอย่างยั่งยืน , จัดทำระบบการประปาภูเขา , จัดตั้งกิจกรรมวิสาหกิจชุมชน เช่น กลุ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว , กลุ่มการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และกลุ่มสมุนไพร เป็นต้น